วันพุธที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ปลาหิมะเปื้อนสารปรอท อย่าตกใจ กินปลาไทยดีกว่า



กรมอนามัย” แนะกินปลาไทย ถูกและได้โอเมก้า 3 ไม่แพ้ปลาน้ำลึก แถมถูก สด ปลอดภัย

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยกองงานด่านอาหารและยา ได้สุ่มตรวจอาหารแช่แข็งและส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจหาสารอันตราย เช่น สารปรอท ตะกั่ว ฟอร์มาลิน เป็นต้น ซึ่งผลการตรวจพบปลาหิมะแช่แข็งที่นำเข้าจากประเทศอุรุกวัย มีสารปรอทสูงเกินมาตรฐานที่กำหนด

ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้มีสารปรอทได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม

สำหรับอาหารทะเล และ 0.02 มิลลิกรัม/ อาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารอื่น ๆ

นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปลาหิมะ (Sable Fish) เป็นปลาที่อาศัยตามก้นทะเลลึก แพร่กระจายอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิคเหนือ มีโอกาสปนเปื้อนสารปรอท จากการดูดซึมและสะสมสารปรอทจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย

ความเป็นพิษของสารปรอทมี 2 ลักษณะคือ พิษเฉียบพลัน เกิดจากการได้รับ สารปรอทคราวเดียวกันในปริมาณมาก จะทำให้มีอาการไข้ หายใจลำบาก ปอดอักเสบ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ภาวะไตวาย ถ่ายเเป็นเลือด การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อผิดปกติ ซึ่

หากบริโภคสารปรอทในปริมาณ 1 กรัม อาจทำให้เสียชีวิตได้ และอีกลักษณะหนึ่งคือ พิษเรื้อรัง เกิดจากการได้รับสารปรอทสะสมทีละน้อย เป็นเวลานาน จนเกิดพิษทางสมอง ไต ผิวหนัง ทำให้มีอาการสั่น ชัก ปวดปลายมือปลายเท้า ปวดศีรษะ หงุดหงิด ขี้ลืม ประสาทหลอน เลือดออกง่าย มีอาการทางตับและไต

อย่างไรก็ตาม รมช.สาธารณสุขบอกว่า ผู้บริโภคอย่าได้ ตื่นตระหนกไป เพราะโดยปกติ การรับประทานปลาหิมะในแต่ละครั้งจะไม่เกิน 200 กรัม อาจมีการ ปนเปื้อนปรอทเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ก่อให้เกิดการสะสมจนทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพผู้บริโภค อีกทั้ง ร่างกายมนุษย์มีกลไกที่สามารถขับสารปรอทออกได้ตามธรรมชาติ

กระทรวงฯได้สั่งการให้ อย. สุ่มตัวอย่างอาหารส่งวิเคราะห์เพื่อหาสารพิษ ในเขต กทม. แล้ว ปรากฏว่าไม่พบสารปรอทเกินปริมาณที่กำหนดแต่อย่างใด

ผู้ประกอบการรายนี้ อย. ได้ดำเนินการทางกฎหมาย โดยการเปรียบเทียบปรับบริษัทและผู้ประกอบการแล้ว ซึ่งการตรวจพบอาหารนำเข้าที่มีสารปนเปื้อนเกินมาตรฐานที่กำหนด ดังเช่นกรณีดังกล่าว อย. จะขึ้นบัญชีการจับตาตรวจสอบอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ (Black list) กับผู้ประกอบการ รายนั้นทันที โดยหากจะนำเข้าครั้งต่อไป จะต้องถูกสุ่มตรวจอย่างละเอียดจนกว่าพบว่าปลอดภัย 3 ครั้ง จึงจะหลุดจากบัญชีการจับตาตรวจสอบอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษได้


นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การกินปลามีประโยชน์ โดยปลาแบ่งเป็นหลายประเภท ทั้งปลาน้ำจืด ปลาทะเล และปลาน้ำลึก ซึ่งมีความเชื่อว่า เนื้อปลาน้ำลึกจะมีประโยชน์มากต่อร่างกาย และมีสารอาหารมากกว่าปลาประเภทอื่น โดยเฉพาะโอเมก้า 3 ที่มีปริมาณสูง ซึ่งปลาหิมะเป็นปลาชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มปลาประเภทนี้ แต่เมื่อเราเทียบปริมาณสารอาหารที่ได้รับกับราคานั้น เรียกว่าเป็นราคาที่สูงพอสมควร

ทั้งนี้คนนิยมกินปลาหิมะน่าจะมาจากรสนิยม และรสชาติของเนื้อปลาที่แตกต่างจากบ้านเรา คือ จะนิ่ม ไร้ก้าง และมีความมัน แต่หากเปรียบเทียบในเรื่องคุณค่าทางอาหารแล้ว ปลาในบ้านเราก็มีคุณค่ามากมายไม่แพ้กัน และยังมีรสชาติที่ดี ซึ่งหากกินเป็นประจำก็จะเสริมร่างกายได้ไม่แพ้กัน

นอกจากเมื่อเปรียบเทียบในเรื่องความสด ปลาในบ้านเรายังมีความสดและปลอดภัยมากกว่า เพราะไม่ต้องผ่านการขนถ่าย นำเข้าจากต่างประเทศ ที่ต้องผ่านกระบวนการคงความสดเพื่อให้ปลาไม่เน่าและอยู่ได้นาน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อร่างกายได้ ส่วนปลาน้ำจืดนั้น อย่างเช่น ปลาดุก ปลาช่อน ก็มีโอเมก้า 3 เช่นกัน แต่อาจมีปริมาณไม่มากเท่าปลาจากทะเลน้ำลึก แต่ถ้าความสดและความปลอดภัยคงมีมากกว่า

“ปลาบ้านเรา มีราคาถูก และรสชาติดี อย่างเช่น ปลาทู ที่หาได้ง่าย หากกินคู่กับน้ำพริกกะปิแล้ว ก็มีรสที่ดี และเมื่อกินกับผักด้วยแล้ว ก็จะทำให้เราได้สารอาหารจำพวกวิตามินด้วย อย่างเช่น ใบบัวบก ซึ่งกินแล้วจะช่วยเสริมความจำเช่นเดียวกับใบแปะก๊วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว และว่า อย่างไรก็ตามหากกินปลาหิมะนานๆ ครั้ง ก็ได้ แต่หากกินเป็นประจำไม่แนะนำเพราะมีราคาที่สูงเกินไป โดยเฉพาะในยุคที่เศรษฐกิจทีกำลังประสบปัญหา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น