วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เภสัชศิลปากร ผ่อนทุกข์ภัยน้ำท่วม จิตอาสาผลิตยาน้ำกัดเท้า


อีกแรงพยุงพี่น้องไทยฝ่าวิกฤตน้ำท่วม มาจากจิตอาสาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยศักยภาพและความสามารถแห่งวิชาชีพ คือการ ผลิตยาสำหรับทาเพื่อป้องกันและรักษาโรคน้ำกัดเท้า

ภญ.รศ.ดร.จุไรรัตน์ นันทานิช คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ กล่าวว่า ด้วยวิสัยทัศน์ของคณะเภสัชศาสตร์ เพื่อเป็นองค์กรสร้างปัญญาทางเภสัชศาสตร์สู่สังคมระดับนำของประเทศ คณะจึงมีนโยบายสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นการให้บริการด้านวิชาการและวิชาชีพสู่สังคม โดยได้ช่วยประสานงานและสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการโครงการ และคณะยังได้รับบริจาคสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยามาสมทบจากหน่วยงานภาคเอกชน ศิษย์เก่าและผู้มีจิตศรัทธาด้วย และได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์ เจ้าหน้าที่และนักศึกษาทุกระดับชั้น เพื่อเป็นอีกช่องทางบรรเทาทุกข์ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยป้องกันโรคน้ำกัดเท้า ภัยอย่างหนึ่งที่อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้าน ภญ.ผศ.ดร.สุชาดา พิริยะประสาธน์ หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม เปิดเผยว่า เมื่อได้ทราบข่าวปัญหาสุขภาวะของผู้ ที่ประสบภัยน้ำท่วม ภาควิชาเทคโน โลยีเภสัชกรรม จึงได้จัดทำโครง การผลิตยาขี้ผึ้งสำหรับโรคน้ำกัดเท้าเพื่อมอบให้กับชุมชนที่ประสบภัยในภูมิภาคต่างๆ และเพื่อเป็นบริการทางวิชาการแก่สังคม นอกจากนี้ยังเป็นการบูรณาการการจัดการเรียนการสอนและการมีจิตสาธารณะกับกิจกรรมของนักศึกษา และหวังว่าคณะจะสามารถเป็นที่พึ่งพิงในเรื่องยาและสุขภาพต่อชุมชนได้

สำหรับยาที่ผลิตครั้งนี้มี 2 ประเภท คือ ยาทาป้องกันน้ำกัดเท้าแบบวาสลีน และยาทาแก้ โรคน้ำกัดเท้าแบบขี้ผึ้ง โดย ภญ.ผศ.ดร.พนิดา อัศวพิชยนต์ หัวหน้าทีมการผลิตยาครั้งนี้ ให้รายละเอียดว่า ในด้านสูตรตำรับยาอ้างอิงจากเภสัชตำรับประเทศอังกฤษ (British Pharmacopeia) ที่ใช้สอนนักศึกษาเภสัชศาสตร์อยู่แล้ว ตัวยามีส่วนประกอบของกรดเบนโซอิก (benzoic acid) ที่มีผลในการฆ่าเชื้อรา และกรดซาลิไซลิก (salicylic acid) ที่ช่วยลอกผิวหนังที่เป็นขุย สะเก็ดหรือปื้นขาว ทำให้ตัวยาฆ่าเชื้อราออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น โดยสูตรที่ผลิตมีจุดเด่นคือเป็นลักษณะขี้ผึ้งทนน้ำและราคาถูก

"ตัวยาที่คณะผลิตมี 2 ตัวยา คือยาสำหรับป้องกันที่เป็นวาสลีนใช้ทาก่อนจะลุยน้ำเพื่อลดการโดนน้ำกัดเท้า และตัวยาที่ใช้รักษาโรคน้ำกัดเท้าสำหรับทาบริเวณที่มีอาการคัน แดงและลอกของผิวหนัง ก่อนใช้ควรอ่านฉลากให้ชัดเจนและถูกต้องกับอาการก่อนใช้ โดยยาที่ผลิตมีอายุประมาณ 1-2 ปี เก็บไว้ใช้หลังน้ำท่วมได้สำหรับผู้ที่ต้องทำงานอยู่กับความชื้นหรือเสี่ยงกับการเป็นโรคน้ำกัดเท้า"

สมกมล แม้นจันทร์ บัณฑิตศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิศวเภสัชกรรม หนึ่งในจิตอาสา กล่าวว่า พี่ๆ ปริญญาเอกและปริญญาโทจะเริ่มจัดเตรียมความพร้อมก่อนจะถึงวันผลิตยาจริง โดยมีหน้าที่ในการควบคุมน้องๆ ปริญญาตรีในการเตรียมส่วนประกอบ ผสมและกระบวนการทำยาในขั้นตอนต่างๆ รวมถึงลงมือทำเองจากทักษะที่เรียนมา ภูมิใจมากที่ได้มีส่วนร่วม ถึงแม้จะไม่สามารถลงไปช่วยได้ถึงพื้นที่ประสบภัย แต่ก็ดีใจที่จะ ได้ส่งยาจากฝีมือเภสัชกรของศิลปากร ไปช่วยบรรเทาอาการน้ำกัดเท้าและป้องกันให้กับประชาชนที่กำลังประสบอุทกภัย ในครั้งนี้ ซึ่งหนักมากจริงๆ

ขณะที่ ไพลิน รัฐศาสตร์วาริน ปริญญาตรีชั้น ปีที่ 4 บอกว่าผู้ประสบภัยไม่ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนยาที่ผลิตและนำไปแจก เพราะลำบากกันมากอยู่แล้ว และถือเป็นโอกาสที่ดีของตนเองที่ได้ช่วยทำงาน ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานและได้ส่ง ผลงานที่ผลิตสู่ประชาชนจริงๆ ใช้รักษาได้จริง ให้ประสบการณ์มากกว่าในห้องเรียน

การผลิตยาครั้งนี้นอกจากจะได้แรงงานและแรงใจสำคัญจากคณาจารย์ นักศึกษาและนักวิทยาศาสตร์ของคณะ ช่วยกันเตรียม ผลิตและบรรจุ กว่า 30,000 ตลับ ก่อนกระจายสู่ผู้ประสบอุทกภัย ยังมีองค์กรภาคเอกชนสนับสนุนวัตถุดิบ สารเคมี ตัวยาสำคัญ ตลับใส่ยา ฉลากยา และเงินทุนด้วย ทั้งนี้ ผู้ประสบภัยหรือหน่วยงานที่ต้องการใช้ยา ติดต่อได้ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น