วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ประโยชน์ของงา

ประโยชน์ของงา และน้ำมันงา

งาเป็นไม้ล้มลุกและเป็นไม้พื้นเมืองของประเทศแถบเส้นศูนย์สูตร มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า Sesamum indicum L. แสดงถึงการพบต้นไม้ชนิดว่าอยู่ในแถบดินแดนโอเรียนเต็ลนี้เอง ซึ่งก็หมายถึงประเทศไทยด้วย มีการปลูกงามากที่ประเทศจีน อินเดียไปจนถึงเม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา งาเป็นต้นไม้ขนาดเล็กสูง 1-2 เมตร มีใบบอบบาง ดอกสีขาวหรือชมพู เมื่อผลแก่จัด จะได้เมล็ดงาจำนวนมากในฝักนั้น

เมล็ดงามีประโยชน์ ประกอบด้วยน้ำมันระหว่าง 46.4 – 52.0% มีโปรตีน 19.8 – 24.2% ซึ่งมีสัดส่วนดี จึงเป็นอาหารที่ดี มีสารมีไธโอนีนและทริพโทแฟ็นสูง มีแคลเซี่ยม โปรแตสเซี่ยมฟอสฟอรัส วิตามินบี และเหล็ก น้ำมันงาที่ดีได้มาจากการหีบโดยไม่ใช้ความร้อน (cold pressed) น้ำมันงาชนิดนี้ได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างของโมเลกุลน้ำมัน และไม่มีสารเคมีตกค้าง

น้ำมันงามีกรดไขมันอิ่มตัวชนิดหลายตำแหน่ง (Polyunsaturated fatty acids) ระหว่าง 40.9 – 42.0% ชนิดไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (Monounsaturated fatty acids) ระหว่าง 42.5 – 43.3% ซึ่งชนิดหลังนี้ เชื่อว่าช่วยป้องกันหลอดเลือดแดงแข็งและโรคหัวใจ

สรรพคุณ

งามีไขมันจำเป็นที่ร่างกายสังเคราะห์เองไม่ได้ คือกรดไลโนเลอิก ร่างกายจะนำกรดไขมันดังกล่าวไปสร้างฮอโมนพรอสต้าแกลนดินฮีกัน ซึ่งทำหน้าที่ที่ทรงคุณค่าต่อร่างกายมากมายหลายด้านด้วยกัน อาทิ
1.
ช่วยขยายหลอดเลือด
2.
ช่วยลดความดันโลหิต
3.
ป้องกันเกล็ดเลือด (Plate Ket) เกาะกันเป็นลิ่ม ถ้าเกาะกันมากอาจอุดตันหลอดเลือดเล็กๆได้
-
ถ้าอุดตันหลอดเลือดหัวใจ ก็จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
-
ถ้าลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดสมอง ก็จะป่วยเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ได้
-
ถ้าลิ่มเลือดอุดตันจอตา อาจทำให้ตาบอดได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องระวัง

4. ยับยั้งไม่ให้ร่างกายสร้างคอเลสเตอรอลมากเกินไป
5.
งามีแคลเซี่ยมสูงทำให้กระดูกแข็งแรงเพิ่มความหนาให้มวลกระดูก
-
งามีแคลเซี่ยมสูงมากกว่าพืชทั่วไปถึง 40 เท่า ทั้งยังมีฟอสฟอรัสมากถึง 20 เท่า สาร 2 ตัวนี้เป็นธาตุสำคัญในการเสริมสร้างกระดูกและฟัน จึงควรให้เด็กกินงาจะได้เจริญเติบโตสูงใหญ่ สตรีวัยหมดประจำเดือนก็ควรกินงามากๆ เพราะวัยนี้จะเกิดภาวะพร่องฮอร์โมนเอสโตเจน ทำให้มีการดึงแคลเซี่ยมาจากกระดูกและฟัน จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน กระดูกเสี่อม
นอกจากนี้ในงายังมีวิตามินอี ซึ่งเป็นสารต้านมะเร็ง และเป็นยาอายุวัฒนะทำให้ร่างกายสดชื่น ดูหนุ่ม - สาวและแก่ช้าลง
ที่สำคัญ งามีเลซิติน ซึ่งเป็นส่วนประกอบไขมันที่สำคัญมากในเซลล์ประสาท ต่อมไร้ท่อ สมอง หัวใจ ไต ควรรับประทานวันละ 1-2 ช้อนชา แล้วตามด้วยน้ำอุ่น จะทำให้จิตแจ่มใส อารมณ์ดี

เราจะเห็นว่างานั้นมีประโยชน์มากมาย แม้แต่อาหารหลักของชาวมังสวิรัติยังขาดงาไม่ได้ เพราะโปรตีนของคนเราประกอบด้วยกรดอมิโนประมาณ 22 ชนิด แต่กรดอมิโนที่ร่างกายเราสร้างเองไม่ได้มีอยู่ 9 ชนิดด้วยกัน โปรตีนเหล่านี้มีอยู่ในถั่วเกือบครบถ้วน ยกเว้นกรดอมิโนที่ชื่อ เมทไธโอนีน ผMethionine) ซึ่งมีมากในเมล็ดงา

คนโบราณนิยมใช้น้ำมันงาในการรักษาตัวเองมานานหลายพันปีมาแล้ว ทั้งในประเทศอินเดียและจีน สรรพคุณต่างๆที่รวบรวมได้มีดังนี้

มีสรรพคุณต้านแบคทีเรีย รา และไวรัส ลดการอักเสบ ลดการเกิดการอุดตันของหลอดเลือด ใช้กับโรคเรื้อรัง เช่น ตับอักเสบ เบาหวาน และปวดศีรษะเรื้อรัง สกัดการเติบโตของเซลล์มะเร็งผิวหนัง และเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ ต้านอนุมูลอิสระ ใช้กลั้วคอและบ้วนปากจะลดเชื้อที่ทำให้เกิดเหงือกอักเสบ เชื้อก่อโรคเจ็บคอ และเชื้อหวัด ใช้หยอดจมูก (1-2 หยด) เมื่อเป็นไซนัสพบว่าได้ผลดี ใช้ทาผิวผู้เป็นโรคสะเก็ดเงินหรือเรื้อนกวาง (Psoriasis) และผู้มีผิวแห้ง ใช้ทาผิวและเคลือบเส้นผมเพื่อป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดดและลม ช่วยจับสารพิษในกระแสเลือด ช่วยรักษาเหา ลดอาการปวดตามข้อได้ ชาวธิเบตใช้หยดจมูกข้างละ 1 หยดเพื่อช่วยให้นอนหลับ และลดความกระวนกระวาย ช่วยระบายท้อง

เคล็ดลับก้นครัว
ใช้ประกอบอาหารได้ทุกประเภท ทั้ง ผัด ทอด หมักหมู หมักเนื้อ ทำน้ำจิ้มสุกี้ ดับกลิ่นคาวปลา และอาหารทะเล
สำหรับทอด หรือเจียวไข่ ตั้งน้ำมันงาให้ร้อนรอจนฟองหมด แล้วทอดจะทำให้อาหารที่ทอดกรอบนอกนุ่มใน ไม่อมน้ำมัน อาหารมีรสชาดอร่อยขึ้น โดยไม่มีกลิ่นน้ำมันตกค้างในรสชาดอาหารเลย
ผัดผักกับน้ำ เหยาะเกลือป่นเล็กน้อย ใส่น้ำมันงา 1 ช้อนชา ผักจะหอมและกรอบอร่อย
ผสมในน้ำจิ้มสุกี้ น้ำสลัดเพื่อสุขภาพ

เคล็ดลับงากับความงาม
1.
ใช้หมักผม จะทำให้เส้นผมดกดำ ไม่หลุดร่างง่าย ผมไม่แห้งแตกปลาย ใช้น้ำมันงาหมักผมไว้ประมาณ 30 นาทีก่อนสระออก

2. ใช้บำรุงผิวหน้า ผิวกาย นวดตัว คลายกล้ามเนื้อ กระตุ้นการไหลเวียนของระบบน้ำเหลือง ช่วยให้หลอดเลือดขยาย

ชาร์ลส์ อองเดร โชแซฟ มารี เดอ โกลล์


ชาร์ลส์ อองเดร โชแซฟ มารี เดอ โกลล์

ชาร์ลส์ อองเดร โชแซฟ มารี เดอ โกลล์ หรือ ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ (22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2433 – 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513) เป็นนายทหารและรัฐบุรุษชาวฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยเป็นที่รู้จักในนาม นายพลเดอ โกลล์

ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เขาเป็นที่รู้จักในฐานะนักยุทธวิธีการรบด้วยรถถัง และผู้นิยมการรบด้วยการใช้ยานเกราะและกองกำลังทางอากาศ เขาเป็นผู้นำการปลดปล่อยฝรั่งเศสในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และผู้นำรัฐบาลชั่วคราวในช่วงปี พ.ศ. 2487(ค.ศ. 1944) ถึง พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) ถูกเรียกตัวไปจัดตั้งรัฐบาลในปี พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) เขาได้เป็นแรงบันดาลใจในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนแรกในยุคสาธารณรัฐที่ 5 ระหว่างปี พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) ถึงปี พ.ศ. 2512 (ค.ศ. 1969) แนวคิดทางการเมืองของเขาเป็นที่รู้จักในนามของลัทธินิยมโกลล์และมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเมืองฝรั่งเศสในยุคต่อมา

ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ เกิดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2433 เป็นลูกคนที่ 3 ใน 5 ของครอบครัวโรมันคาทอลิกที่มีลักษณะอนุรักษ์-เสรีนิยมที่เมืองลีลล์ ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของประเทศฝรั่งเศสติดกับประเทศเบลเยี่ยม เขาเติบโตและได้รับการศึกษาในกรุงปารีสที่ Collège Stanislas de Paris และยังได้ศึกษาในประเทศเบลเยี่ยมระยะหนึ่ง เชื้อสายฝ่ายพ่อของชาร์ลส์ เดอ โกลล์นั้นเป็นชนชั้นผู้ดีตระกูลสูง (อภิชนาธิปไตย) ในแถบนอร์มังดีและเบอร์ชังดีมาเป็นเวลานาน ซึ่งได้ย้ายรกรากมาอาศัยอยู่ในกรุงปารีสเป็นเวลากว่าศตวรรษแล้ว ส่วนเชื้อสายทางฝ่ายแม่ของเขานั้น เป็นผู้บริหารกิจการอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยแห่งเมืองลีลล์ในบริเวณฟลานเดอร์ส์ฝรั่งเศส คำว่า เดอ (de) (ซึ่งแปลว่า แห่ง หรือ ณ) ในคำว่า เดอ โกลล์ (de Gaulle) นั้นไม่ได้เป็นนามสกุลขุนนางแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่บรรพบุรุษของครอบครัว เดอ โกลล์ นั้น เป็นขุนนางหรืออัศวินซึ่งสูงด้วยยศและตำแหน่ง ซึ่งบรรพบุรุษคนแรกๆ ของตระกูล เดอ โกลล์ นั้นมียศเป็นผู้ติดตามอัศวิน (Écuyer) ในสมัยพระเจ้าฟิลิปที่ 2 ช่วงศตวรรษที่ 12 เป็นที่เชื่อกันว่า คำว่า เดอ โกลล์ นั้นได้มีวิวัฒนาการมาจากคำว่า De Walle ซึ่งแปลว่า กำแพงเมืองหรือป้อมปราการ ในภาษาเยอรมัน เนื่องจากขุนนางฝรั่งเศสในสมัยก่อนนั้น สืบเชื้อสายมาจากพวกแฟรงก์และนอร์มังเยอรมัน ซึ่งก็ทำให้ได้รับอิทธิพลในการใช้ชื่อเยอรมัน และเป็นที่สังเกตว่า คำว่า เดอ โกลล์ (de Gaulle) นั้นจะขึ้นต้นด้วย d ตัวเล็กเสมอ ปู่ของชาร์ลส์ เดอ โกลล์นั้นเป็นนักประวัติศาสตร์ ส่วนย่าเป็นนักเขียน พ่อของเขา อองรี เดอ โกลล์ เป็นครูในโรงเรียนคาทอลิกเอกชน ซึ่งเขาได้ตั้งโรงเรียนขึ้นมาเอง การโต้วาทีเรื่องการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ครอบครัวเขาทำเป็นประจำ เมื่อตอนเขาเด็กๆ พ่อของเขาก็ได้แนะนำนักเขียนผู้ซึ่งเป็นพวกอนุรักษ์นิยมอยู่เป็นประจำ ครอบครัวเขาเป็นครอบครัวที่มีความเป็นชาตินิยม เขาเติบโตมาด้วยความศรัทธาที่มีต่อชาติของตนเอง

ครอบครัวเขาเป็นพวกจารีตนิยม อนุรักษ์นิยมและยังสนับสนุนการปกครองในระบอบราชาธิบไตย แต่ถึงกระนั้นครอบครัวเขาก็ได้ยึดถือกฎหมายและเคารพสาธารณรัฐเป็นอย่างดี มุมมองทางการเมืองของพวกเขายังออกไปแนวเสรีนิยมอีกด้วย

ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ ได้เลือกที่จะใช้ชีวิตเป็นทหารอาชีพ และเขาก็ได้เรียนที่โรงเรียนเตรียมทหารพิเศษแห่งแซงต์-ซีร์ (École spéciale militaire de Saint-Cyr) เป็นเวลากว่า 4 ปี และได้เข้าร่วมกองทหารราบ แทนที่จะเลือกหน่วยทหารหัวกะทิ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้สิ้นสุดลง ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ ยังคงอยู่ในกองทัพ เป็นนายทหารของพลเอก Maxime Weygand และพลเอกฟิลีป เปแตง อย่างต่อเนื่อง ในระหว่างสงครามโปลิช-โซเวียต (พ.ศ. 2462 - พ.ศ. 2464) เขาได้อาสาเข้าไปเป็นสมาชิกของหน่วยภารกิจทหารฝรั่งเศสเพื่อโปแลนด์ และได้เป็นครูฝึกทหารราบให้แก่กองทัพโปแลนด์ ต่อมาเขาได้แยกตัวออกเพื่อที่จะเข้าร่วมภารกิจใกล้ๆ แม่น้ำ Zbrucz (บริเวณประเทศยูเครน)และได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ทางทหารอันสูงสุดของโปแลนด์นั่นก็คือ เครื่องอิสริยาภรณ์ Virtuti Militari

เขายังได้เลื่อนขั้นเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยและยังได้ข้อเสนอให้ทำงานต่อที่ประเทศโปแลนด์แต่เขากลับเลือกที่จะกลับมาทำงานในประเทศฝรั่งเศส และได้เป็นนายทหารเสนาธิการและได้สอนที่โรงเรียนเตรียมทหาร (École Militaire) เป็นผู้อยู่ในอุปถัมภ์ของผู้บังคับบัญชาคนเก่าของเขา คือ พลเอกฟิลีป เปแตง ชาร์ลส์ เดอ โกลล์นั้นได้รับอิทธิพลจากสงครามโปลิช-โซเวียตเป็นอย่างมากด้วยการใช้รถถัง เคลื่อนพลอย่างรวดเร็ว และการทำสงครามในสนามเพลาะ เขายังได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างเพื่ออนาคตทางทหารและการเมืองของเขาจากจอมพล Józef Piłsudski แห่งโปแลนด์ ในเรื่องการก่อตั้งสหภาพยุโรป

ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ได้เห็นขอแตกต่างระหว่างสงครามโปลิช-โซเวียตและสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นอย่างมากโดยเฉพาะในด้านประสบการณ์ ซึ่งเขาก็ได้ออกหนังสือหลายเล่มที่เกี่ยวกับการจัดการการทหารโดยเฉพาะเล่มที่ชื่อว่า ไปสู่ทหารอาชีพ (Vers l'Armée de Métier) ที่เขาได้เสนอองค์ประกอบของทหารที่มีประสิทธิภาพพร้อมกับหน่วยทหารติดอาวุธ และเหนือกว่านั้นคือแนวคิดที่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ แนวกำแพงมาชิโนต์ (Maginot Line) แนวคิดเดียวกันนี้ได้ก้าวหน้าไปโดย:

  • พลตรี จอห์น เฟรเดอริค ชาร์ลส์ ฟูลเลอร์ (J. F. C. Fuller) ชาวอังกฤษ
  • Heinz Guderian นักทฤษฎีทางทหารชาวเยอรมัน
  • ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์แห่งสหรัฐอเมริกา
  • พลเอกจอร์จ สมิทธ์ แพตตัน จูเนียร์ แห่งสหรัฐอเมริกา
  • จอมพล Mikhail Tukhachevsky ชาวรัสเซีย
  • พลเอก Władysław Sikorski นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐโปแลนด์

แต่ถึงกระนั้นแนวคิดของชาร์ลส์ เดอ โกลล์ก็ได้ถูกปฏิเสธจากทหารคนอื่นๆ โดยเฉพาะพลเอกพิลีป เปแตง ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งตึงเครียดขึ้น นักการเมืองฝรั่งเศสเองก็ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ทำให้เป็นที่สงสัยในความน่าเชื่อถือของทหารอาชีพต่อนักการเมือง ยกเว้น Paul Reynaud ที่จะมีบทบาทสำคัญต่อชาร์ลส์ เดอ โกลล์ เดอ โกลล์ เองก็ได้ติดต่อกับ Ordre Nouveau (New Order) ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2477 ถึงต้นปี พ.ศ. 2478 ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งแนวคิดทางการเมืองของกลุ่มนี้อยู่ในปีกฝ่ายขวา และต้องการที่จะสร้างทางที่ 3 ขึ้นมาระหว่างสังคมนิยมกับทุนนิยม และต่อต้านเสรีนิยม รัฐสภานิยม ประชาธิปไตย และฟาสซิสต์ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้น ชาร์ลส์ เดอ โกลล์มียศเพียงแค่พันเอก และเขาก็ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้นำทางทหารตั้งแต่ต้นประมาณปี พ.ศ. 2463 มาเรื่อยๆ ต่อมากองทัพเยอรมันได้ยาตราทัพเข้าตีเมืองเซอดังในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 เขาก็เลยได้เป็นผู้บังคับการ กองทหารรถถังที่ 4 ในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 เขาได้โจมตีรถถังเยอรมันบริเวณ Montcornet ด้วยรถถังเพียง 200 คันและไม่มีกำลังทางอากาศสนับสนุนซึ่งทำได้เพียงต่อต้านการรุกคืบหน้าของกองทัพเยอรมันเท่านั้นเอง ต่อมาในวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 เขาได้โจมตีกองทหารราบของเยอรมัน จนถอยไปถึง Caumont และนี่ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจเพราะเป็นยุทธวิธีไม่กี่วิธีที่ทำให้ฝรั่งเศสมีชัยต่อกองทัพเยอรมันในเวลานั้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีปอล เรย์โนด์ ได้แต่งตั้งให้เขาเป็นผู้บังคับกองพัน หรือที่เรียกว่า Général de brigade ซึ่งทำให้เขาเป็นที่เรียกว่า Général de Gaulle ในเวลาต่อมา วันที่ 6 มิถุนายน ปอล เรย์โนด์ ได้แต่งตั้งเขาเป็นปลัดกระทรวงกลาโหมและสงคราม และให้เขาดูแลเรื่องการประสานงานกับสหราชอาณาจักร ในฐานะที่เขาเป็นคนใหม่ในรัฐบาลฝรั่งเศส เขาล้มเหลวในการต่อต้านการยอมแพ้ของฝรั่งเศส และการสนับสนุนในการย้ายรัฐบาลไปยังแอฟริกาเหนือและต่อสู้กับกองทัพเยอรมันให้ถึงที่สุดจากเมืองขึ้นฝรั่งเศส เขาได้รับตำแหน่งนายทหารประสานงานกับสหราชอาณาจักรและเขาก็ได้เสนอวินสตัน เชอร์ชิลล์ ในการรวมประเทศฝรั่งเศสเข้ากับสหราชอาณาจักรเป็นประเทศเดียวกัน ด้วยทหารและรัฐบาลเดียวกันในระหว่างสงครามนี้ ซึ่งเป็นข้อเสนอสุดท้ายเพื่อชาวฝรั่งเศสที่ต้องการจะสู้ในสงครามต่อไป ในวันที่ 16 มิถุนายน ในกรุงลอนดอน เขาได้ขึ้นเครื่องบินกลับไปยังบอร์กโดซ์ (รัฐบาลเฉพาะกาลของสาธารณรัฐฝรั่งเศส)ในบ่ายวันเดียวกัน และเพิ่งได้ข่าวว่าฟิลิป เปแตง ได้เป็นนายกรัฐมนตรีพร้อมกับความคิดที่จะสงบศึกกับเยอรมนี

วันนั้นเองที่เขาได้ตัดสินใจในสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขาและประวัติศาสตร์สมันใหม่ของฝรั่งเศสนั่นคือการประกาศไม่ยอมรับการยอมแพ้ของฝรั่งเศสและยังได้ต่อต้านกฎหมายของรัฐบาลของเปแตง (ซึ่งในมุมมองของเขาคือกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม) และได้ประกาศทำสงครามต่อกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ต่อมาในวันที่ 17 มิถุนายน เขาได้หลบหนีออกจากบอร์กโดซ์พร้อมกับทองคำ 100,000 ฟรังก์ซึ่งเป็นเงินลับที่ ปอล เรย์โนด์ ได้ให้เขาในคืนก่อน เขาหนีรอดอย่างหวุดหวิดจากเครื่องบินรบเยอรมันและถึงกรุงลอนดอนในบ่ายวันนั้น เดอ โกลล์ได้ปฏิเสธการยอมจำนนของประเทศฝรั่งเศสและเตรียมพร้อมในการเคลื่อนไหวเพื่อที่จะต่อสู่กับเยอรมนี ดังนั้นการเกิดสงครามกลางเมืองฝรั่งเศสก็สามารถปะทุขึ้นได้ทุกเวลา ยุควิชีฝรั่งเศสที่อยู่ข้างฝ่ายอักษะได้ก่อกำเนิดแล้ว จะต้องต่อสู้กับแนวร่วมการปลดปล่อยฝรั่งเศสนำโดยชาร์ลส์ เดอ โกลล์ที่ปฏิเสธและต่อต้านการสงบศึก

ในวันที่ 18 มิถุนายน เดอ โกลล์ เตรียมตัวที่ปราศัยแก่คนฝรั่งเศสผ่านทางวิทยุ BBC ในกรุงลอนดอน คณะรัฐมนตรีของอังกฤษได้พยายามบล็อกคำปราศรัยครั้งนั้นแต่วินสตัน เชอร์ชิลล์ก็ได้ยับยั้งมติคณะรัฐมนตรีไว้ได้ ในประเทศฝรั่งเศส เดอ โกลล์ คำอุทธรณ์ 18 มิถุนายน(Appel du 18 Juin) น่าจะเป็นที่ได้ยินของคนทั้งชาติในเย็นวันนั้น แต่ในความจริงแล้วมีเพียงเล็กน้อยที่ได้ยินเท่านั้น เดอ โกลล์ยังไม่เป็นที่รู้จักกันในประเทศฝรั่งเศสเวลานั้น และคำปราศรัยของเขานั้นเป็นเหมือนความเพ้อฝันเสียมากกว่า วลีที่ว่า ฝรั่งเศสแพ้จากการรบ แต่ยังมิได้แพ้สงคราม นั้นได้พบอยู่บนโปสเตอร์ทั่วสหราชอาณาจักร และถูกโยงไปอย่างผิดๆ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำปราศรัยทาง BBC แต่อย่างไรก็ตามวลีดังกล่าวก็ได้เห็นความตั้งใจแน่วแน่ของชาร์ลส์ เดอ โกลล์ เขาเองมีส่วนร่วมในการต่อต้านการบุกรุกของเยอรมันและได้ประกาศว่า ไฟการต่อต้านของฝรั่งเศสจะไม่ดับลง แต่ เดอ โกลล์ก็ได้อ้างถึงการต่อต้านของทหารแต่เมื่อทหารชาวฝรั่งเศสส่วนมากนึกได้ว่าตนเองไม่มีปัจจัยใดๆ ที่สามารถชนะสงครามได้แล้ว จึงต่อต้านศีลธรรมแทน ทำให้เดอ โกลล์ มีความผิดหวังอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน มีชาวฝรั่งเศสไม่มากนักที่ได้ยินคำปราศรัยของเดอ โกลล์ในวันนั้นเพราะวิทยุ BBC ไม่ใคร่จะเป็นที่ได้ยินในประเทศฝรั่งเศสและชาวฝรั่งเศสกว่าล้านคนเป็นผู้ลี้ภัยด้วยซ้ำไป อย่างไรก็ตามใจความสำคัญของคำปราศรัยครั้งนั้นได้ถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสในวันต่อมาบริเวณทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส (ซึ่งยังมิได้โดนยึด) และคำปราศรัยนั้นยังได้เปิดซ้ำไปซ้ำมาเป็นเวลาหลายวันทาง BBC และ เดอ โกลล์ เองก็ได้ปราศรัยเรื่อยๆ ในเวลาต่อมา คำปราศรัยของเดอ โกลล์ในวันที่ 22 มิถุนายนทาง BBC สามารถฟังได้ที่นี่ หรือใจความสำคัญของคำปราศรัยอื่นๆ และสำเนาโปสเตอร์ตั้งแต่ มิถุนายน พ.ศ. 2483 หาได้จากที่นี่ ในไม่ช้า ท่ามกลางความวุ่นวาย งุนงง และความยุ่งเหยิงของประเทศฝรั่งเศส ข่าวที่ว่ามีนายพลชาวฝรั่งเศสที่อยู่ในกรุงลอนดอนได้ปฏิเสธที่จะยอมแพ้หรือสงบศึกกับเยอรมนีและได้ประกาศว่าสงครามยังดำเนินต่อไป ได้กระจายจากปากสู่ปาก และจนวันนี้คำปราศรัยของเขานั้นเป็นที่จดจำและโด่งดังที่สุดอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ในลอนดอน ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ ได้ก่อตั้งและดำเนินการแนวร่วมการปลดปล่อยฝรั่งเศส ในขณะที่สหรัฐอเมริกาให้การยอมรับรัฐบาลวิชีฝรั่งเศสแต่สหราชอาณาจักร รัฐบาลของวินสตัน เชอร์ชิลล์ให้การสนับสนุนชาร์ลส์ เดอ โกลล์ ทั้งๆ ที่รักษาระดับความสัมพันธ์กับรัฐบาลวิชีฝรั่งเศสอยู่ ในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2483 ศาลทหารในเมืองตูลูส ได้ตัดสินให้ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ (โดยที่เจ้าตัวไม่อยู่) จำคุกเป็นเวลา 4 ปี และการตัดสินครั้งที่ 2 ในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2483 ได้ตัดสินลงโทษประหารชีวิต เนื่องจากทรยศและทำการกบฏต่อรัฐบาลวิชีฝรั่งเศส ในการปฏิบัติต่อสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกานั้น เขายืนหยัดตลอดเวลาในการยืนหยัดสิทธิเสรีภาพในฐานะตัวแทนคนฝรั่งเศส แต่เขามักถูกลืมเลือนโดยฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่บ่อยครั้ง เขาอาศัยอยู่ด้วยความระแวงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อสหราชอาณาจักรเพราะเขาเชื่อว่าสหราชอาณาจักรพยายามหาทางที่จะการครอบครองเลอวองต์จากฝรั่งเศสอย่างลับๆ ล่อๆ เคลมองทีน เชอร์ชิล ภรรยาเซอร์วินสตัน เชอร์ชิล ผู้ซึ่งชื่นชมในตัวเดอ โกลล์ ได้เคยเตือนเขาไว้ว่า อย่าเกลียดพันธมิตรมากกว่าศัตรู แต่เดอ โกลล์ก็ได้ตอบกลับไปว่า ฝรั่งเศสไม่มีเพื่อน มีแต่หุ้นส่วน อย่างไรก็ตามสถานการณ์ดังกล่าวมีความซับซ้อน เดอ โกลล์เองก็ไม่ไว้วางใจจุดประสงค์ของสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา เนื่องจากนักการเมืองระดับสูงของสหรัฐอเมริกานั้นไม่ไว้วางใจแนวร่วมปลดปล่อยฝรั่งเศสของชาร์ลส์ เดอ โกลล์ และเป็นประเทศหนึ่งที่ปฏิเสธในการยอมรับแนวร่วมปลดปล่อยฝรั่งเศสและชาร์ลส์ เดอ โกลล์ในฐานะตัวแทนประเทศฝรั่งเศส ในทางกลับกัน สหรัฐอเมริกาได้ให้การยอมรับรัฐบาลวิชีฝรั่งเศสแทน หลายครั้งที่คนได้วิจารณ์การบ่นในการทำงานร่วมกันของเดอ โกลล์และเชอร์ชิลอย่างผิดๆ เช่น "จากไม้กางเขนทั้งหมดที่ข้าพเจ้าดูแล ไม้กางเขนแห่งลอร์เรนน์เป็นสิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าหนักใจเป็นที่สุด" (ไม้กางเขนแห่งลอร์เรนน์เป็นสัญลักษณ์ของแนวร่วมการปลดปล่อยฝรั่งเศส) ซึ่งคำเหน็บแนมดังกล่าวแท้จริงแล้ว ทูตอังกฤษที่ส่งไปยังฝรั่งเศส พลตรี เซอร์ หลุยส์ สเปียร์ส์ เป็นคนพูดต่างหาก บางครั้งในภาวะตึงเครียด กล่าวกันว่า เชอร์ชิลได้เคยพูดเป็นภาษาฟรองเกลซ์ ว่า Si vous ne co-operatez, je vous obliterai ซึ่งแปลว่า ถ้าคุณไม่ให้ความร่วมมือ ผมจะทำลายคุณซะ เขาได้ทำงานร่วมกับกลุ่มการต่อต้านของฝรั่งเศสและผู้สนับสนุนการครอบครองเมืองขึ้นฝรั่งเศสบริเวณแอฟริกา ต่อมาหลังภารกิจ Operation Torch ที่ทหารอังกฤษและอเมริกันยกพลบุกเมืองขึ้นฝรั่งเศสในแอฟริกาเหนือในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2485 (เมืองขึ้นฝรั่งเศสขณะนั้นภายใต้รัฐบาลวิชีฝรั่งเศส) ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ได้ย้ายกองบัญชาการไปยังเมืองอัลเจียร์ ประเทศแอลจีเรียในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2486 หลังจากนั้นเดอ โกลล์ก็ได้เป็นประธานร่วม (ร่วมกับพลเอกอองรี ชีโรด์ ซึ่งสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุน) และภายหลังเป็นประธานคณะกรรมมาธิการปลดปล่อยแห่งชาติ (คนเดียว) ระหว่างภารกิจการปลดปล่อยฝรั่งเศสนั้น ทหารอังกฤษและอเมริกันก็ได้ยกพลขึ้นผืนแผ่นดินใหญ่ที่ประเทศฝรั่งเศสในภารกิจ Operation Overlord หรือเป็นที่คุ้นหูในนาม "การรบแห่งนอร์มังดี" เดอ โกลล์ก็สถาปนาแนวร่วมการปลดปล่อยฝรั่งเศสในผืนแผ่นดินใหญ่ฝรั่งเศส หลีกเลี่ยงรัฐบาลทหารสัมพันธมิตรเพื่อครอบครองดินแดน (AMGOT) เขาได้นั่งเครื่องบินจากประเทศแอลจีเรียมายังฝรั่งเศสก่อนการเป็นเสรีภาพของกรุงปารีสและได้เคลื่อนที่เข้าไปบริเวณแนวหน้าใกล้ๆ เมืองหลวงพร้อมกับทหารสัมพันธมิตร เขาได้กลับไปยังกรุงปารีสในไม่ช้า และก็ได้กลับเข้าทำงานในกระทรวงระหว่างสงคราม และก็ได้ประกาศว่าสาธารณรัฐที่ 3 ยังคงอยู่ต่อไปและปฏิเสธการปกครองของวิชีฝรั่งเศส เดอ โกลล์ได้เป็นประธานคณะรัฐบาลเฉพาะกาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (GPRF) เริ่มในเดือนกันยายน พ.ศ. 2487 เขาได้ส่งหน่วยปฏิบัติการฝรั่งเศสนอกประเทศแห่งตะวันออกไกล (Corps Expéditionnaire Français en Extrême-Orient, CEFEO) เพื่อที่จะสถาปนาอำนาจในภูมิภาคอินโดจีนฝรั่งเศสขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2488 และได้แต่งตั้งพลเรือเอกดาร์ชองลีอู เป็นผู้บัญชาการอินโดจีนฝรั่งเศส และจอมพลเลอเคลิร์กเป็นผู้บัญชาการสูงสุดในอินโดจีนฝรั่งเศสและบังคับบัญชาหน่วยปฏิบัติการฝรั่งเศสนอกประเทศแห่งตะวันออกไกล ภายใต้การนำของชาร์ลส์ เดอ โกลล์ ผู้ที่ได้ทำการต่อต้านและต่อสู้เพื่อฝรั่งเศสมาก่อนหน้านี้แล้วนั้น (ส่วนมากเป็นทหารจากเมืองขึ้นฝรั่งเศส) สามารถเคลื่อนกองทัพๆ หนึ่งของฝรั่งเศสในบริเวณแนวตะวันตกได้ โดยการกระทำภารกิจยกพลขึ้นทางตอนใต้ของฝรั่งเศส (Operation Dragoon) ซึ่งสามารถทำให้ 1 ใน 3 ของประเทศฝรั่งเศสเป็นเสรีจากกองทัพเยอรมันได้ ทหารกลุ่มนี้เรียกว่า กองทัพฝรั่งเศสกลุ่มแรก ทำให้กองทัพฝรั่งเศสนั้นได้เข้าร่วมในการต่อสู้กับเยอรมนีทางทหารพร้อมเพรียงกับทหารอังกฤษโดยปริยาย และยังได้ยึดดินแดนที่กองทัพเยอรมันครอบครองไว้คืนมาอีกด้วย และนี่ส่งผลไปถึงการที่ฝรั่งเศสมีส่วนร่วมในสนธิสัญญาการยอมแพ้ของเยอรมนีด้วย มากกว่านั้นฝรั่งเศสยังมีโอกาสที่จะควบคุม 1 ใน 4 ส่วนของประเทศเยอรมนีหลังสงครามอีกด้วย (พร้อมกับ สหราชอาณาจักร รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา)

เดอ โกลล์ได้ลาออกเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2489 ด้วยการตำหนิว่าพรรคการเมืองต่างๆ ว่ามีความขัดแย้งกันเองและไม่รับรองรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 4 ซึ่งเขาเชื่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจรัฐสภามากเกินไป พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงพันธมิตรของพรรคการเมือง คนที่ได้รับตำแหน่งต่อจากเขาคือ เฟลิกซ์ กูแอง(SFIO), ต่อมาคือ จอร์จ บิโดต์ (MRP) และสุดท้ายคือ เลอง บลังม์ (SFIO)